How to Lube Switches

การลูปสวิตช์คีย์บอร์ดนั้นถือว่าเป็นกรรมวิธีที่คนเล่น custom keyboard แทบจะทุกคนต้องทำก่อนทำการรวมร่างคีย์บอร์ดของตัวเอง เพื่อเพิ่มความลื่น หรือ smooth ให้กับสวิตช์ และยังช่วยในเรื่องของเสียงอีกด้วยที่จะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด การลูปที่ดีจะทำให้คีย์บอร์ดของคุณเปลี่ยนเป็นอันใหม่ที่ดีกว่าจนลืมอันเก่าไปเลยทีเดียว แต่จะดีไม่ดีนั้นก็ต้องเกิดจากการเลือกใช้น้ำยาหล่อลื่นที่ถูกต้อง และเทคนิคการลูปที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องตัวน้ำยาลูปกันก่อนแล้วจึงจะพูดถึงเรื่อการลูปสวิตช์กันนะครับ

โดยในที่นี้ผมจะขอแนะนำเฉพาะน้ำยาหล่อลื่น ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปและหาซื้อได้ตามเว็บไซต์ขายของ custom keyboard ถ้าใครไม่ทราบว่าซื้อที่ไหนลองไปอ่านบทความที่แล้วดูนะครับ แต่ก็ยังมีอีกสองที่ ที่แนะนำถ้าอยากมองหาซื้อ ลูปก็คือ https://switchmod.net/ และ www.storeuni.com/ และตอนนี้ร้าน KeyPro บ้านเราก็ได้นำเข้ามาแล้วด้วยนะครับ ลองเข้าไปดูกันได้ครับ ทีนี้เราก็มาเริ่มกันเลย


น้ำมันลูป (Lubricants)

น้ำยาหรือจาระบีที่เราใช้ลูปสวิตช์กันนั้นจริงๆ แล้ว มันก็เป็นน้ำมันหล่อลื่นชนิดนึงนั่นเองครับ ซึ่งในความเป็นจริงเราจะใช้น้ำมันหล่อลื่นอะไรก็ได้ ที่มันไม่มีปฏิกริยาทำพลาสติกเสื่อมสภาพ แต่ยังไงก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าให้เดินเข้าไปโฮมโปร แล้วหยิบน้ำมันหล่อลื่นอะไรก็ได้มาลงมือลูปเลยนะครับ ส่วนถ้าใครอยากทดลองน้ำมันหล่อลื่นในตลาดมาทดลองก็ไม่ผิด แต่ผลออกมาเป็นยังไงผมไม่เกี่ยวด้วยนะ แต่ถ้าดีก็บอกต่อกันด้วยครับ 555

สำหรับน้ำมันหล่อลื่นที่เราใช้กันนั้น ในวงการจะแบ่ง 2 ประเภทครับ คือ Thin Lube และ Thick Lube

Thin Lube จะมีลักษณะเป็นน้ำมันใสๆ ค่อนข้างเหลว หนืดเล็กน้อยคล้ายๆ น้ำเชื่อม จะช่วยปกปิดความสากของสวิตช์เดิมได้บางส่วน สำหรับผมจะนิยมใช้กับสวิตช์ประเภท linear หรือพวกที่มี housing ใสเพราะค่อนข้างจะลื่นอยู่แล้วครับ และยังนิยมใช้ในการนำมาลูปสปริงเพื่อลดเสียง ping ของสปริงด้วยครับ 

ข้อดีของ thin lube นั้นคือเนื่องจากไม่เหนียวมากจึงจะช่วยให้เรารู้สึกถึงฟิลลิ่งของสวิตช์เดิมๆ ได้ดีกว่า thick lube เหมาะสำหรับคนที่อยากได้ฟิลลิ่งเดิมๆ ของสวิตช์โดยเพิ่มความ smooth ครับ โดย thin lube ที่นิยมใช้และหาซื้อค่อนข้างง่ายในตลาดจะเป็นของยี่ห้อ Krytox ซึ่งที่นิยมกันจะมี 3-4 เบอร์ดังนี้

  • Krytox GPL 103

  • Krytox GPL 104

  • Krytox GPL 105

  • Krytox GPL 107

ลูปเบอร์ตามด้านบน โดยหลักๆ คุณสมบัติที่แตกต่างกันคือ ความเหนียว (Viscosity) โดยที่เบอร์เยอะก็จะมีความเหนียวที่มากขึ้นนั่นเอง โดยเบอร์ที่นิยมนำมาใช้กันคือ 103/105 ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกับความเหนียวของลูป ก็คืออุณหภูมิห้องครับโดยท่านสามารถลองดูจากแผนผังทางด้านล่างได้ เพื่อให้เลือกใช้ได้อย่างถูกต้องครับ (ขอบคุณภาพจาก Storeuni)

Krytox_Viscosity_RT.jpg

Thick Lube มีลักษณะเป็นจาระบีสีขาวขุ่น ช่วยปกปิดความสากของสวิตช์เดิมได้มากกว่า thin lube สำหรับผมจะใช้กับ พวกสวิตช์ที่มี housing ที่ทึบไม่ใส เนื่องจาก housing ประเภทนี้จะค่อนข้างมีความสากมากกว่า สามารถใช้ได้กับสวิตช์ทุกแบบ

ข้อดีของ thick lube นั้นคือด้วยความที่มีความเหนียวมากทำให้ช่วยลดสวิตช์ที่มีความสากเยอะๆ ได้ดีกว่า เช่น พวก Cherry MX Black ที่ค่อนข้างจะสาก thin lube นั้นอาจจะไม่ช่วยให้ลื่นขึ้นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการลูป thick lube มากเกินไปก็จะทำให้ ฟิลลิ่งของสวิตช์นั้นหายไป พูดง่ายๆ ว่าความรู้สึกที่เรากดลงไปจะเป็นความรู้สึกลื่นๆ หนืดๆ ของลูปไปแทน สำหรับ thick lube ที่นิยมกันมีดังนี้

  • Tribosys 3203

  • Tribosys 3204

  • Krytox GPL 204 grade 0

  • Krytox GPL 205 grade 0

  • GHv4

ความเหนียวของ thick lube ด้านบนนี้ ผมเรียงลำดับจากบนลงล่างนะครับ สำหรับตัว tribosys 3204 และ GPL 204 grade 0 นั้นจะเท่าๆ กันครับ

นอกจาก thick / thin lube แล้วก็ยังมีลูปชนิดอื่นๆ อีกที่นิยมใช้ เช่น Dry lube ซึ่งเป็นน้ำมันหล่อลื่นประเภทที่ทาแล้วปล่อยให้แห้งโดยจะแห้งเป็นฟิล์มบางๆ ให้ฟีลที่ลื่นขึ้น โดยปกติจะทาประมาณ 2-3 ชั้นครับ และยังมีประเภทที่เอาลูปข้างต้นมาผสมกัน เป็นสูตรเฉพาะคนนะครับลองกันได้ตามสนุกเลย


เทคนิคการลูป

หลังจากจบไปกับเรื่องลูปแล้ว ต่อไปก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญก็คือเทคนิคการลูปครับ ขอเริ่มต้นด้วยสิ่งที่จำเป็นต้องมีสำหรับการลูปสวิตช์ครับ

สิ่งที่ต้องใช้ในการลูป

  1. สวิตช์ แน่นอนว่าขาดไม่ได้นะครับ

  2. ลูป อย่างที่เขียนไว้ข้างต้น ควรเลือกลูปที่เหมาะสมสำหรับสวิตช์นะครับ

  3. พู่กัน ใช้สำหรับทาลูป ส่วนนี้ผมแนะนำให้ใช้ตามถนัด สำหรับผมเองใช้พู่กันเบอร์ 2 แบบหัวแบนของไทยแหลมทอง

  4. ที่เปิดสวิตช์ ใช้สำหรับแกะสวิตช์ มีหลายแบบตั้งแต่ 3d print จน cnc เน้นความสวยงามครับ ใช้งานได้เหมือนกันหมด

  5. ที่คีบชิ้นงานขนาดเล็ก ใช้คีบสปริง หรือ stem เวลาลูป

  6. เวลา และความอดทน เปิดเพลงฟังก็ได้ครับ Zzz

unnamed (2).jpg

ต่อไปเราก็มาพูดถึงการลูปกันได้แล้ว เพื่อความเข้าใจง่ายที่สุดผมจึงทำเป็นรูปภาพประกอบคำอธิบายให้นะครับ โดยสวิตช์ที่เราจะมาสาธิตวันนี้คือ Massdrop Holy Panda นั่นเอง ที่ผมจะใช้ tribosys 3204 มาใช้ในการลูปสวิตช์ และ Krytox 105 มาลูปสปริงนะครับ มีขั้นตอนดังนี้ครับ

แกะสวิตช์ออกมาเพื่อเช็ดจาระบีเก่าจากโรงงานออก (ถ้ามี)

ป้ายน้ำมันหล่อลื่นเล็กน้อยอย่าให้ชุ่มพู่กัน ไม่เยอะจนเกินไป ไม่จับตัวเป็นก้อน หรือชุ่มเกินทำให้ทาออกมาแล้วไม่เรียบ หรือน้อยเกินไปจนทำให้เวลาทาแล้วน้ำมันหล่อลื่นไม่ติดพื้นผิว โดนเราจะทำการทาน้ำมันสองจุดด้วยกันสำหรับ Bottom Housing คือส่วน Slider ด้านข้าง หรือร่องด้านของสวิตช์ และ ตัวแกนที่ใช้ใส่สปริง โดยที่ทาเพียงบางๆ อย่าให้หนาเป็นก้อนนะครับ

unnamed (4).jpg
unnamed (5).jpg
unnamed (6).jpg

เมื่อลูป Bottom Housing เสร็จเรียบร้อยให้เราทาน้ำมันหล่อลื่นที่สปริง ในกรณีนี้ผมจะใช้ Krytox 105 ในการลูปสปริงโดยทาปลายด้านนึงและช่วงกลางขดของสปริงก่อนแล้วจึงนำสปริงใส่ลงบน Housing แล้วจึงลูปที่ปลายสปริงด้านบน 

สำหรับการลูปสปริงนั้นไม่จำเป็นจะต้องมานั่งทาทีละอันก็ได้นะครับ เราสามารถใช้วิธีการที่เรียกว่า Bag lube ได้ คือการนำสปริงทั้งหมด ใส่ถุงซิบขนาดเล็กๆ แล้วใส่น้ำมันลงไปและเขย่าๆๆๆ ให้น้ำมันเกาะที่สปริงทุกอันก็ได้ครับ และนำมาใส่สวิตช์ได้เลย

unnamed (9).jpg
unnamed (8).jpg

ขั้นตอนต่อไปคือการลูป Stem เราจะเริ่มดังนี้

  1. ลูปบริเวณ Slider ก่อนเช่นเดิมโดยที่เน้นให้น้ำมันเคลือบบริเวณที่สันนูนขึ้นมา โดยขั้นตอนนี้ผมแนะนำให้ทาคลุมบริเวณด้านบนของตัว slider ด้วยจะช่วยในเรื่องของเสียงได้ครับ 

  2. ทาบริเวณฝั่งด้านหน้าและหลังของ stem ซึ่งผมจะไม่แนะนำให้ทาบริเวณ bump หรือขาของตัวสวิตช์เท่าไรนักเพราะจะทำให้ฟิลลิ่งการกดเปลี่ยนไปนะครับ นอกเสียจากเป็นความตั้งใจของเรานะครับ เช่น ตั้งใจลูป bump ของ tactile switch เพื่อลด tactile ของสวิตช์ก็ได้เช่นกัน สำหรับสวิตช์ linear นั้นแนะนำให้ลูปขาด้วยครับเพื่อความลื่นปรื้ด

  3. ลูปแกนตรงกลางของ stem เพียงเล็กน้อยเพื่อลดแรงเสียดสีครับถ้าเยอะเกิดไปจะเกิดเสียง แจ๊ะๆ ได้

unnamed (7).jpg
unnamed (10).jpg
unnamed (11).jpg
unnamed (13).jpg

อีกส่วนนึงที่ผมก็ลูปในบางครั้งคือ ราง silder ของ top housing ซึ่งมีผลช่วงลดเสียงได้ระดับนึงเลยครับ

unnamed (12).jpg

จบลงไปแล้วนะครับ สำหรับเรื่องของการลูปสวิตช์ ผมได้แนะนำไปคร่าวๆ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเริ่มต้นการลูปสวิตช์ได้อย่างไม่ต้องกลัว หวังว่าจะได้ประโยชน์จากการอ่านไม่มากก็น้อย ทั้งนี้สำหรับการลูปสวิตช์นั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ออกมาดีหรือไม่ดีด้วย เช่น น้ำหนักมือของแต่ละคน รวมไปถึงรสนิยมความชอบฟีลสวิตช์ของแต่ละคนด้วยนะครับ เรื่องเหล่านี้ผมอยากให้ได้ลองเล่นกันจะได้รู้และสนุกไปกับมันครับ หรือว่าถ้าอยากจะจ้างใคร หรือให้เพื่อนลูปให้ก็ไปลองสวิตช์ที่เค้าทำก่อนก็ได้ครับ จะได้รู้ฟิลของคนๆ นั้นได้ครับ 

สุดท้ายหากมีคำถามถามเพิ่มเติม จะสอบถามผมหรือใครในกลุ่มก็ได้ครับจะได้ไม่เหงากัน ;) รวมถึงขอขอบคุณคุณเบนซ์ที่ช่วยผมอ่านพรูฟบทความนี้ครับ

Previous
Previous

Keyboard Mounting

Next
Next

Custom keyboard ซื้อที่ไหน?