Keycaps

พลากสติกหลากสีที่ราคาไม่ใช่เล่นๆ

ที่จั่วหัวไปแบบนั้นเป็นเพราะบางชุดนั้นราคามันเอาเรื่องจริงๆ ตั้งแต่หลักหลายพันจนหมื่นกันเลย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคีย์แคปนั้นเป็นเหมือนหน้าตาของคีย์บอร์ดของเรา ซึ่งในความจริงแล้วตัวมันเองนั้นส่งผลมากกว่าแค่เรื่องหน้าตาของคีย์บอร์ดซะอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง ความคงทน และรวมไปถึงผิวสัมผัสที่ดีกว่าด้วย สำหรับในตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักกับมันกันนะครับ นอกจากว่าทำไมมันแพงแล้ว เมื่ออ่านจบแล้วมั่นใจได้ว่าเราจะต้องดูคีย์แคปเป็น แยกแต่ละแบบออก เลิกงงเวลาคนอื่นเค้าคุยกันอย่างแน่นอน 

 

ขนาดและแถวของคีย​์แคป (Keycap Size & Row)

สำหรับเรื่องแรกที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับคีย์แคปนั้นคือ ขนาด และรูปทรงที่แตกต่างกัน มีสองสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรู้เลยในการดูคีย์แคป คือ ความยาว และแถวของคีย์แคป 

ความยาวของคีย์แคป

FullSize Layout & Keycap Size ขอบคุณรูปจากคุณ Sathit กลุ่ม THMK

FullSize Layout & Keycap Size ขอบคุณรูปจากคุณ Sathit กลุ่ม THMK

จากรูปจะเห็นได้ว่า แต่ละปุ่มนั้นมีความยาวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะใช้ u เป็นหน่วยในการกำหนดขนาด โดย 1u นั้นเท่ากับขนาดปุ่มตัวอักษร 1 ตัว โดยปุ่มอื่นๆจะมีขนาดเพิ่มไปในหลักทศนิยมตามสัดส่วน เช่น 1.25u ,1.75u หรือ 2.25u เป็นต้น

ซึ่งใน CustomKeyboard นั้นมักจะต้องใช้ขนาดที่ไม่ตรงกับมาตรฐานทั่วไป เช่น 1.5u RightShift ทีมักใช้ในคีบอร์ดขนาด 65-75% ซึ่งเราจะไม่พบคีย์แคปขนาดนี้ในชุดคีย์แคปที่หาได้ง่ายๆทั่วไป จึงสำคัญมากถ้าหากเราจะซื้อคีย์แคปซักชุด ต้องแน่ใจว่ามีปุ่มครบทุกปุ่มไหมสำหรับขนาดและ Layout ที่เราจะประกอบ และไม่ใช่แค่ใน Custom Keyboard เท่านั้น ใน Mechanical Keyboard สำเร็จรูปเช่นเกมมิ่งเกียร์นั้นก็มีขนาดปุ่มในแถวล่างสุดที่แตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อเช่นกัน เพราะฉะนั้นลองเช็คดูกันดีๆ ก่อนซื้อนะครับ


7U Spacebar

Spacebar ขนาด 7u นั้นเป็นขนาดที่ใช้กันในสมัยก่อนที่จะมี Window Key แต่ในปัจจุบันกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งกับ Layout แบบ WK และ WKL จากรู้ด้านล่างแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกับแบบทั่วไปครับ โดยวิธีการเรียก Layout แบบนี้ให้เข้าใจตรงกันได้ง่ายเราจะใช้วิธีการเรียกโดยเรียงขนาดตัวคีย์แคปจากซ้ายไปขวา ตัวอย่างเช่น

เราจะเรียกว่า [1.5,1,1.5,7,1.5,1,1.5]

เราจะเรียกว่า [1.5,1,1.5,7,1.5,1,1.5]

และแบบนี้เราจะเรียกว่า [1.25,1.25,1.25,6.25,1.25,1.25,1.25,1.25]

และแบบนี้เราจะเรียกว่า [1.25,1.25,1.25,6.25,1.25,1.25,1.25,1.25]


แถวของคีย์แคป (Row)

เรื่องแถวนั้นสำคัญไม่แพ้กับความยาวของคีย์แคปด้วยเหตุผลคล้ายๆกัน เนื่องจากคีย์แคปนั้นถูกออกแบบให้แต่ละแถว(แนวนอนจากบนลงล่าง) มีรูปทรงที่แตกต่างกัน(ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้กันทีหลัง) เพื่อให้รองรับการพิมพ์ของมือเราได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นในคีย์แคปแต่ละแถวจะวางสลับแถวกันไม่ได้นั่นเอง เพราะจะทำให้พิมพ์ติดขัดและที่สำคัญคือมันไม่สวยครับ

วิธีดูแถวจากรูปตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่าด้านข้างซ้ายจะมีเขียน R0-R4 เป็นการบอกว่าปุ่มในแถวนั้นจะมีรูปทรงตามแถวนั้นๆ ให้เราดูได้ว่ามีคีย์แคปความยาว และแถวที่เราต้องการหรือไม่

จะเห็นได้ว่าสองปัจจัยนี้ส่งผลชัดเจนต่อการเลือกซื้อคีย์แคปซักอันให้ใช้กับคีย์แสนรักของเราได้ โดยในชุดคีย์แคปที่มีราคาค่อนข้างสูงส่วนใหญ่จะทำมารองรับขนาดเช่นนี้ทั้งหมด ให้เราเลือกดูให้ดีในตอนซื้อว่ามีครบไหม บางครั้งอาจจะไม่มีในชุดหลัก แต่มีชุดเสริมขายแยกสำหรับขนาดที่แตกต่างออกไป


ทรงของคีย์แคป (Keycap Profile)

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า แต่ละแถวของคีย์แคปนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้คีย์แคปนั้นยังมีหลายโปรไฟล์ด้วยเช่นกัน รูปทรงหรือโปรไฟล์ของคีย์แคปนั้นมีหลากหลายแยกออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้คือ Sculpted และ Uniform

  • Sculpted Keycap นั้นคือ เซ็ตคีย์แคปประเภทที่แต่ละแถวมีหน้าตาไม่เหมือนกัน มีจุดประสงค์เพื่อให้รับการมือของเราเวลาใช้งาน ตัวอย่างเช่น Cherry, OEM, SA, KAT 

  • Uniform Keycap คือคีย์แคปที่มีลักษณะเหมือนกันทุกตัว สำหรับคีย์แคปประเภทนี้เราจึงไม่ต้องกลัวเรื่องใส่สลับแถวกันเพราะใส่แทนกันได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น DSA, KAM, XDA 

คีย์แคปมีกี่โปรไฟล์

สำหรับโปรไฟล์ของคีย์แคปนั้นมีอยู่มากมายครับ และยังมีโปรไฟล์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วย เพื่อตอบรับกับตลาดคนเล่น Mechanical Keybaord ที่โตขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างด้านล่างนี้ผมจะยกมาเฉพาะโปรไฟล์ที่จะเห็นกันได้บ่อยๆ หรือบางอันอาจจะไม่ค่อยเห็นแต่ก็ยังมีขายอยู่บ้างในตลาดครับผม 

keycap-profile-1.jpg

ขอบคุณรูปจากคุณ Sathit กลุ่ม THMK


วัสดุของคีย์แคป และเทคนิคการผลิต

วัสดุและการผลิตเป็นอีกเรื่อง ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของคีย์แคปได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลอย่างมากกับความรู้สึกในการพิมพ์ ความเสถียรของคีย์แคป รวมไปถึงเสียงในขณะที่พิมพ์เช่นกัน สำหรับวัสดุที่เราพบได้บ่อยในการนำมาผลิตคีย์แคปนั้นมีอยู่หลักๆ สองชนิดคือ ABS และ PBT ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นพลาสติกเหมือนกัน แต่ให้ผิวสัมผัส และเสียงที่แตกต่างกันออกไป โดยทั้งสองวัสดุมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป


IMG_9317.jpg

GMK Carbon ABS Keycap

ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) 

  • อักษรคมชัด

  • ใช้การผลิตการฉีดพลาสติกแบบสองสี Double-shot 

  • มีสีสันให้เลือกมากกว่า

  • แคปมีความเสถียรมากกว่า

IMG_7017.jpg

Rama Heavy Industry PBT Keycap

PBT (polybutylene terephthalate)

  • ไม่ขึ้นเงาเวลาใช้งานไปนานๆ

  • ผิวสัมผัสมีความสากกว่า (แล้วแต่คนชอบ)

  • สีสันไม่สดเหมือน ABS จะออกแนวตุ่นๆมากกว่า

  • ให้เสียงที่ทุ้มกว่า ABS

  • ใช้เทคนิคการปริ้นแบบ dye-sub ทำให้สามารถทำรูปได้หลากหลายมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่นๆ อีกเช่นกัน เช่น PPS (Polyphenylene Sulfide) เป็นพลาสติกอีกชนิดที่มีเสียงคล้ายๆ โลหะ ทำให้ได้เสียงการพิมพ์ที่แปลกหูไปอีกแบบ และ POM ผิวสัมผัสลื่นกว่า มีความทนทานมากกว่า ABS แต่ไม่เป็นที่นิยมมากเพราะราคาแพง

IMG_8536.jpg

เทคนิคในการผลิตคีย์แคป

แน่นอนการผลิตคีย์แคปคือการฉีดพลากสติก แต่ว่าในส่วนตัวอักษรนั้นมีกรรมวิธีผลิตอยู่หลายแบบเช่นกันซึ่งมีผลต่ออายุการใช้งานและคุณภาพอย่างชัดเจน สำหรับเทคนิคในการผลิตตัวอักษรบนคีย์แคปนั้นมีหลากหลายวิธีดังนี้

  • Pad Printing เป็นเทคนิคการพิมพ์สีลงบนพลาสติกที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป บนคีย์แคปของคีย์บอร์ดทั่วๆ ไป ที่มีราคาไม่แพงมากนัก เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นผ่านตามาอย่างแน่นอน จะสังเกตได้ง่ายๆว่าตัวอักษรนั้นจะเหมือนถูกปริ้นต์แปะลงไป เมื่อเอามือลูบจะรู้สึกถึงความไม่เรียบของผิว เป็นวิธีการพิมพ์อักษรที่ราคาถูกที่สุด และมีความคงทนน้อยที่สุด เมื่อใช้ไปนานๆ ตัวอักษรจะลอกล่อนจากการใช้งานได้ง่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น Pad Printing ก็มีหลายคุณภาพเช่นกันบางโรงงานที่ทำดีๆ จะมีความคงทนพอสมควรเช่นกัน

unnamed.jpg
  • Laser Etching คือการยิงเลเซอร์เพื่อแกะสลักตัวอักษรลงบนเนื้อพลาสติก มีหลากหลายเทคนิคเช่นกัน โดยสามารถยิงเลเซอร์ลงไปบนพลาสติกสีอ่อนเพื่อให้ไหม้และเป็นตัวอักษรขึ้นมา ทำให้ได้ตัวอักษรบนผิวคีย์แคปที่เรียบเนียน ตัวอย่างเช่น Apple Keyboard หรืออาจจะเป็นการยิงเลเซอร์กัดสีที่ชุบปุ่มพลาสติกสีใสไว้ เพื่อให้แสงสามารถลอดขึ้นมาได้ พบเห็นได้มากใน Gaming Gear

hx-keyfeatures-keyboard-accessories-pbt-keycaps-3-md.jpg
  • Dye Sublimation (Dye-Sub) เป็นการปริ้นตัวอักษรโดยใช้การพิมพ์สีหมึกลงไปบนพลาสติกโดยใช้ความร้อน ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงกระดาษปริ้นรูปที่สามารถนำมารีดลงบนเสื้อได้ครับ ข้อดีคือมีความคงทนเพราะสีนั้นซึมลงไปในเนื้อพลาสติก ไม่ลอกร่อนแน่นอน และสามารถพิมพ์หลายสีได้ แต่ข้อเสียคืออักษรที่พิมพ์ลงไปนั้นจะมีขอบที่ไม่คมมาก เพราะเป็นการซึมของสี และสามารถผลิตได้บน Keycap PBT ซึ่งมีสีไม่หลากหลายเท่านั้นเพราะสามารถทนความร้อนได้มากกว่า ABS

IMG_8751.jpg
  • Doubleshot  เป็นการฉีดพลาสติกสองสี หรือ Double Injection เพื่อนขึ้นรูปคีย์แคป ทำให้ตัวอักษรมีความคมชัดและคงทนมาก เพราะตัวอักษรก็เป็นพลาสติกอีกชิ้นที่ฉีดออกมาซ้อนกันนั่นเอง เป็นวิธีที่นิยมใช้กันในคีย์แคปที่คุณภาพสูง ข้อเสียคือเป็นเทคนิคที่มีราคาแพง และหากผลิตด้วย tooling ที่ไม่ดีก็ออกมาไม่ดีได้เช่นกัน

n4eyaz91h4m31.jpg
Previous
Previous

Switches

Next
Next

Keyboard Layouts