Keyboard Mounting

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการ mounting ของคีบอร์ดหรืออธิบายให้เข้าใจง่ายคือการติดตั้งตัว Plate หรือ PCB ของคีบอร์ดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการ mounting นี้มีผลโดยตรงกับสัมผัสในการพิมพ์ รวมไปถึงเสียงของคีบอร์ดนั้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องร่ายต่อไปให้ยาว เรามาเริ่มทำความรู้จักกับรูปแบบ mounting แบบต่างๆกัน รวมถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบด้วย


tray-mount.jpg

Tray mount คือการ mounting โดยการใช้น๊อตยึดตัวแผงวงจรกับตัวเคสคีบอร์ดด้านล่าง การ mounting แบบนี้มักจะถูกใช้ในขนาด 60% เท่านั้น สำหรับตำแหน่งน๊อตของคีบอร์ดแบบ tray mount นั้นจะมีตำแหน่งมาตรฐาน สามารถใช้แผงวงจรร่วมกันได้หมด ยกเว้นเพียงแค่เคสคีบอร์ดบางตัวเท่านั้นที่อาจออกแบบมาเฉพาะเพื่อฟีลการพิมพ์ที่แตกต่างออกไป โดยส่วนมากจะใช้กันแพร่หลายในคีบอร์ดระดับเริ่มต้น เนื่องจากการผลิตนั้นสามารถทำๆได้ในราคาไม่แพงเพราะทำเคสเพียงชิ้นเดียว

ข้อดี

  • การผลิตราคาถูก ทำให้คีบอร์ดประเภทนี้สามารถทำออกมาได้ในราคาไม่แพง

  • สามารถใช้ Plate / PCB 60% ขนาดมาตรฐานได้เกือบทั้งหมด

  • ง่ายต่อการประกอบไม่ต้องกลับด้านเคส

ข้อเสีย

  • ฟีลในการพิมพ์ไม่สม่ำเสมอ เพราะตำแหน่งของน๊อต

  • ตำแหน่งของน๊อตจะทำให้เสียงแต่ละปุ่มไม่เสมอกัน

  • เพลทและ PCB มาตรฐาน หาง่าย ราคาไม่แพง

ตัวอย่างคีบอร์ด Tray mount

  • Tofu

  • Mekanisk Fjell / Klippe

  • Duck Raven / Sidewinder


sandwich-mount.jpg

Sandwich mount คือการ mounting โดยการใช้เคสบนและล่างหนีบเพลทโดยตรง และยึดกันด้วยน๊อตตามรูปด้านบน

ข้อดี

  • จะให้เสียงและสัมผัสที่มีความใกล้เคียงกันทั้งตัวบอร์ด

  • ให้เสียงและสัมผัส bottom out ที่แข็ง

ข้อเสีย

  • สัมผัสและเสียงอาจจะแข็งเกินไปสำหรับบางคน

  • โดยส่วนมากจะไม่มี relief cut ที่ space-bar ทำให้เสียง space-bar แข็ง

  • อาจไม่เหมาะกับเพลทที่มีความเปราะบาง เพราะจะทำให้เพลทแตกได้ง่ายจากการขันน๊อตแน่นเกินไป

ตัวอย่างคีบอร์ด Sandwich mount

  • TX60 v.1

  • KN2.10²

  • QXP


Top-mount.jpg

Top mounting นั้นเป็นการติดตั้งเพลทที่ได้รับความนิยมที่สุดแบบหนึ่งถูกใช้ในคีบอร์ดทุกระดับ โดยโครงสร้างคือการยึดเพลทกับเคสด้านบนด้วยน๊อตอย่างเดียวไม่เกี่ยวข้องกับเคสชิ้นล่าง

ข้อดี

  • จะให้เสียงและสัมผัสที่มีความใกล้เคียงกันทั้งตัวบอร์ด แต่ไม่เท่า Sandwich Mount

  • ใช้วัสดุเพลทได้หลากหลาย

  • ผู้ออกแบบสามารถออกแบบความสมดุลของตัวเพลท เพื่อความเหมาะสมของสัมผัสและเสียงได้

ข้อเสีย

  • จากข้อดีที่ผู้ออกแบบสามารถปรับจูนเพลทได้จามต้องการ ทำให้จำเป็นจะต้องใช้เพลทเฉพาะสำหรับคีบอร์ดนั้นๆ

ตัวอย่างคีบอร์ด Top Mount

  • KBD67v2 MKII

  • TGR Jane V2

  • Duck Orion

  • และอื่นๆอีกมากมาย


bot-mount.jpg

Bottom mounting นั้นพูดง่ายๆก็คือสลับกันกับ Top mount โดยเพลทใช้น๊อตยึดเพลทกับเคสล่างแทน

ข้อดี

  • จะให้เสียงที่มีความใกล้เคียงกันทั้งตัวบอร์ด คล้าย top mount แต่มีความมั่นคงมากกว่า

  • ใช้วัสดุเพลทได้หลากหลาย

  • ผู้ออกแบบสามารถออกแบบความสมดุลของตัวเพลท เพื่อความเหมาะสมของสัมผัสและเสียงได้

ข้อเสีย

  • จำเป็นจะต้องใช้เพลทเฉพาะสำหรับคีบอร์ดนั้นๆ

ตัวอย่างคีบอร์ด Bottom Mount

  • Percent Studio Canoe

  • Kmac-II


integrated-mount.jpg

Integrated mount คือการออกแบบคีบอร์ดโดยเพลทเป็นชิ้นเดียวกับเคสชิ้นบนโดยใช้การ CNC ส่วนมากเพลทจะมีความหนามากกว่าปกติ

ข้อดี

  • จะให้เสียงที่มีความใกล้เคียงกันทั้งตัวบอร์ด

  • ดีไซน์สวยงามบอร์ดและเพลทเป็นชิ้นเดียวกัน

ข้อเสีย

  • สัมผัสและเสียงอาจจะแข็งเกินไปสำหรับบางคน

  • โดยส่วนมากจะไม่มี relief cut ที่ space-bar ทำให้เสียง space-bar แข็ง

  • ไม่สามารถเปลี่ยนเพลทได้

ตัวอย่างคีบอร์ด Integrated Mount

  • Rama Koyu

  • Think65


gasket-mount.jpg

Gasket mount คือการใช้ยาง O-ring รัดรอบช่องระหว่างเพลทและแผงวงจรโดยตัวเคสจะไม่มีการยึดเพลทโดยน๊อต แต่เป็นการใช้เคสบนและล่างหนีบเพลทไว้โดยใช้ยาง O-ring วางอยู่บนเคสชิ้นล่างในส่วนที่ออกแบบมารับยางไว้

ข้อดี

  • ให้สัมผัสและเสียงที่นุ่มกว่าการยึดเพลทด้วยน๊อต

  • เสียงมักจะออกมา thock กว่าการยึดเพลทด้วยน๊อต แต่ทั้งนี้ขี้นอยู่กับแรงกดของเคสที่ผู้ออกแบบทำมาด้วย

ข้อเสีย

  • เพลทจำเป็นต้องเป็นเพลทเฉพาะรุ่นเท่านั้น

  • มักมีราคาแพงกว่า mounting ที่ใช้น๊อต

ตัวอย่างคีบอร์ด Gasket Mount

  • OTD356mini

  • GSKT-00


Isolated-mount.jpg

Isolated mount นั้นมีจุดประสงค์ในการออกแบบเหมือนกับ gasket mount เพื่อลดเสียงและสัมผัสให้นุ่มนวลขึ้น แต่เป็นการใช้แผ่นยางตัดให้ได้ขนาดตามที่ออกแบบติดบนเคสบนและล่างเพื่อหนีบเพลทเอาไว้ตรงกลาง ทั้งนี้วัสดุของยางมีผลต่อสัมผัสและเสียงขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบ

ข้อดี

  • ให้สัมผัสและเสียงที่นุ่มและเงียบกว่าการยึดเพลทด้วยน๊อต

ข้อเสีย

  • เพลทจำเป็นต้องเป็นเพลทเฉพาะรุ่นเท่านั้น

  • มักมีราคาแพงกว่า mounting ที่ใช้น๊อต

  • ยาง gasket มักจะมีขนาดเฉพาะหากชำรุดจะหาทดแทนได้ยาก

ตัวอย่างคีบอร์ด Isolated Mount

  • Keycult No.1/2

  • Volcano660

  • Key65


burger-mount.jpg

เช่นเดียวกับ Gasket และ Isolated mount คือเลือกใช้ยางมาช่วยในเรื่องสัมผัสและเสียงแต่ Burger mount นั้นเลือกใช้ O-ring มารองน๊อตที่ใช้ยึดเพลทเอาไว้ก่อนขันยึดเพลทเข้าไปเหมือนกับ top mount

ข้อดี

  • ให้สัมผัสและเสียงที่นุ่มและเงียบกว่า

  • ราคาไม่แพงเหมือน gasket mount ประเภทอื่นเพราะการออกแบบเหมือน top mount

  • O-ring สามารถหาซื้อเปลี่ยนได้ง่าย รวมถึงสามารถผสมความนุ่มและแข็งตามตำแหน่งยึดต่างๆได้ด้วย

ข้อเสีย

  • เพลทจำเป็นต้องเป็นเพลทเฉพาะรุ่นเท่านั้น

ตัวอย่างคีบอร์ด Burger Mount

  • Omega60

  • Brutal60

  • Satisfaction75


pcb-mount.jpg

PCB mount หรือเรียกอีกอย่างว่า Plateless เป็นการติดตั้งโดยไม่มีเพลท ทำให้แรงกดลงสู่แผงวงจรโดยตรง

ข้อดี

  • ให้สัมผัสที่นุ่มและยืดหยุ่นมาก

  • เสียงมีความนุ่ม ใส

ข้อเสีย

  • PCB อาจเกิดความเสียหายได้จากการใช้งาน

  • ต้องใช้สวิตช์ 5 pin ในการบิ้วเท่านั้น

ตัวอย่างคีบอร์ด PCB Mount

  • IDB60

  • J80

  • คีบอร์ด Tray mount ทั่วๆไป


pin-mount.jpg

อันนี้แถมนะครับเป็น Mounting ใหม่ ออกแบบโดยคุณ westfoxtrot บนคีบอร์ด Prophet โดยใช้หมุดเล็กสี่มุมในการสวมเพลทเอาไว้โดยไม่มีแรงกดจากเพลทชิ้นบน เพื่อปล่อยให้เพลทมีการยืดหยุ่นได้อย่างอิสระ

ข้อดี - ข้อเสีย ยังไม่เคยลองฮะ ^ ^

ตัวอย่างคีบอร์ด Pin Mount

  • Prophet


จบลงเท่านี้นะครับสำหรับเรื่องของการ mounting แบบต่างๆ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า mounting นั้นส่งผลต่อสัมผัสและเสียงของคีบอร์ดโดยตรง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ อย่างเช่นตัวเพลทเองก็ยังมีรายละเอียดอื่นอีกทั้งเรื่องวัสดุและการออกแบบตำแหน่งการยึด หรือตัดเพลท และอื่นๆอีกหลายสิ่งที่มีผลกันอย่างละนิดละหน่อยครับเอาไว้เรามาเล่ากันให้ฟังในโอกาสหน้าครับ สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

Previous
Previous

เลือก (Custom) Mechanical Keyboard ตัวแรกให้ถูกใจ

Next
Next

How to Lube Switches