เลือก (Custom) Mechanical Keyboard ตัวแรกให้ถูกใจ

อยากได้แล้ว ตัวไหนดีพี่! Mechanical Keyboard ตัวแรก เลือกแบบไหนดี?

เมื่อเข้ามาสู่วงการ Mechanical Keyboard หลายๆท่านจะเกิดอาการงง และมีคำถามที่หลายๆคนถามกับตัวเอง ที่น่าจะเหมือนๆกันคือว่าเราควรเริ่มต้นกับตัวไหนดี เลือกส่วนประกอบต่างๆอย่างไรดีเพื่อให้ตรงกับความต้องการและการใช้งานของเรา เพราะของมันช่างมีเยอะแยะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นสวิตช์ที่มีเยอะจนน่าปวดหัว วันนี้ผมเลยมาคุยเรื่องนี้ให้ฟังกันครับเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เริ่มต้นนำไปใช้ในการเลือก Mechanical Keyboard และ ที่สำคัญเป็นเรื่องของการเลือกซื้อชิ้นส่วนต่างๆสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นเล่น Custom Mechanical Keyboard ซึ่งต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาในบทความนี้จะมีความเห็นส่วนตัวผมด้วย หากใครไม่เห็นด้วยในส่วนไหนก็คอมเมนท์กันได้ครับ

งบประมาณ

เรื่องแรกที่เราควรให้ความสำคัญคือการประเมินงบที่มีซะก่อนที่จะไปลงรายละเอียดมากกว่านี้ งบประมาณเป็นสิ่งแรกที่เราควรดูก่อนว่าเราแค่ไหนและจะจัดสรรอย่างไรเพื่อไปซื้อ Mech KB ที่ถูกใจเราที่สุดในงบประมาณนั้นๆ สำหรับใครที่มีงบประมาณไม่มากนัก (ไม่เกิน 1000-8000 บาท) หนึ่งในตัวเลือกคือการซื้อคีบอร์ด Prebuilt คือพวก Mech KB สำเร็จรูปในตลาดนี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นเกมมิ่ง หรืออื่นๆก็ตาม คีบอร์ด Prebuilt ในตลาดที่มีคุณภาพดีๆในตลาดนั้นก็มีหลากหลายแบรนด์เช่น Leopold, Filco, Ducky, Keychron, Varmillo, IKBC, GK64, RK61, Anne Pro และอื่นๆอีกหลายแบรนด์ครับ ข้อดีของการซื้อคีบอร์ด Prebuilt นั้นคือเราจะได้ชิ้นส่วนทุกอย่างมาครบถ้วนพร้อมใช้งานได้เลย แถมทุกวันนี้ยังมาในรูปแบบของ hot-swap PCB มากขึ้นเรื่อยๆด้วย เราสามารถดึงสวิตช์ออกมาลูป หรือเปลี่ยนสวิตช์ใช้งานได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องมานั่งซื้อและรอชิ้นส่วนต่างๆให้มาครบก่อนค่อยประกอบ แถมยังเสี่ยงทำเสียได้อีกต่างหากสำหรับมือใหม่ นี่ยังไม่รวมถึงเครื่องมือในการประกอบที่เราต้องเตรียมให้พร้อมอีกด้วย และเมื่อเราอยาก Custom ทีหลังเช่นการเปลี่ยนสวิตช์ หรือคีย์แคปก็ทำได้โดยภายหลังโดยประหยัดงได้แยะเลย

อีกหนึ่งตัวเลือกคือ Custom Mechanical Keyboard ซึ่งโดนส่วนมากจะเป็นการซื้อชิ้นส่วนของคีบอร์ดมาประกอบกันเองตามที่เราต้องการ หากใครยังสงสัยว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างให้ลองไปอ่าน ที่ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วถึงส่วนประกอบต่างๆ Custom Mechanical Keyboard ที่นี่ ส่วนเรื่องของงบสำหรับการเล่น Custom Keyboard นั้นค่อนข้างกว้างมาก ตั้งแต่ 4000 บาทขึ้นไปจนแพงมากๆจนผมไม่กล้าพูดถึงมัน ขึ้นอยู่กับหลายว่าเราซื้อจากที่ไหน และซื้อตอนไหนด้วยครับ

สำหรับบางท่านที่อยากเล่นเป็น Project สนุกๆ อาจจะเริ่มต้นจาก Skeleton Kit ง่ายๆ หรือพวกคีบอร์ด Tofu ที่จะใช้งบประมาณ 7000++ บาท จากเว็บไซต์ KBDfans ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ขายของสำหรับ Custom Mechanical Keyboard เยอะมากๆ ราคาเป็นมิตรสำหรับผู้เริ่มต้นครับ สำหรับใครที่ใช้งาน Taobao เป็นก็สามารถไปสั่งจากร้านเค้าในนั้นได้ครับ ราคาถูกกว่าหน้าเว็บไซต์เยอะเหมือนกัน สำหรับการซื้อ Custom Keyboard จากแหล่งอื่นๆผมเคยเขียนไว้แล้วสำหรับ แหล่งการซื้อ Custom Mechanical Keyboard มีทั้งมือหนึ่งและมือสองให้เราเข้าไปเสียตังค์กันได้ตามอัธยาศัย แต่ขอบอกไว้ก่อนมือสองเนี่ยไม่ได้หมายความว่ามันถูกกว่านะครับ

หลังจากเราเคลียร์เรื่องงบของเองได้แล้วเชื่อว่าทุกคนน่าจะได้แนวทางคร่าวๆแล้วว่าควรจะเล่นแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ทีนี้เราก็ไปต่อกันได้เลยสำหรับการเลือกองค์ประกอบต่างๆของคีบอร์ด

CASE

เคสนั้นถือว่าเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญ แน่นอนนอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม การออกแบบเคสยังส่งผลถึงเสียงและสัมผัสของคีบอร์ดดด้วย การเลือกเคสนั้นนอกจากเรื่องราคาแล้ว การออกแบบก็มีความสำคัญอย่างที่บอกเหตุผลไว้ข้างต้น เคสที่ออกแบบเรียบง่ายแบบ tray mount แบบ Tofu หรือ Klippe หรือเคสที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ความให้ความสนใจคือการ Mounting ที่แตกต่างกันออกไปของคีบอร์ดแต่ละตัว จนไปรูปลักษณ์ภายนอกเคสบางตัวที่มีการออกแบบตกแต่งเคสจนสวยงาม หรือมีไฟก็ตามซึ่งก็แล้วแต่ชอบกันได้เลยครับในส่วนนี้

วัสดุที่ใช้ผลิตก็ยังส่งผลต่อเสียง ตัวอย่างเช่นจะเห็นว่าในเคสคีบอร์ดที่ราคาค่อนข้างสูงหลายๆตัวมักจะมีทุ่นทองเหลืองเป็นส่วนประกอบของเคสด้วย ทั้งนี้ไม่ใช้เพราะความสวยงาม หรือน้ำหนักเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยลดความก้องของเสียงจากตัวเคสได้อีกทาง ซึ่งในส่วนนี้เป็นความชอบส่วนตัว เสียงและสัมผัสที่ถูกใจแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการเลือกเคสและชิ้นส่วนอื่นๆที่เข้ากันให้เหมาะสมด้วย

P1000257.jpg
 

PCB

การเลือก PCB นั้นต้องเลือกให้มั่นใจว่าสามารถใช้กับเคสตัวที่เราใช้งานได้ สำหรับในปัจจุบันนั้นมี Hot-Swap PCB ซึ่งเป็น แผงวงจรแบบที่ไม่ต้องบัดกรีเป็นตัวเลือกที่ง่ายกว่าสำหรับคนที่ไม่อยากบัดกรี คุณภาพในการผลิตก็มีความสำคัญเหมือนกัน PCB ที่ราคาไม่แพงมามักพบปัญหาบางอย่างบ่อยๆเช่น USB port หลุดง่าย หรือชิ้นส่วนบางชิ้นอาจจะคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไร อาจจะทนความร้อนได้ไม่สูงมาก อาจจะทำให้ยุ่งยากต้องมาเปลี่ยนภายหลังได้หากดวงไม่ดีเจอตัวที่มีปัญหา

สำหรับ PCB คีบอร์ดสำเร็จรูป บางตัวอาจจะโปรแกรมปุ่มไม่ได้ หรือที่ดีๆหน่อยก็จะมี software มาให้เช่นพวกคีบอร์ดเกมมิ่งต่างๆ แต่สำหรับ PCB ของกลุ่มคนเล่น Custom Mechanical Keyboard ส่วนมากจะทำงานผ่าน QMK (Quantum Mechanical Keyboard Firmware) ที่อาจจะใช้งานลำบากซักนิดสำหรับมือใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป เพราะในปัจจุบันตัว QMK ได้ถูกทำให้ใช้งานง่ายขึ้นมากแล้ว ไม่ต้องลงไปโค้ดดิ้งเอง แต่ถ้าอยากได้การใช้งานแบบประยุกข์ก็ยังสามารถเข้าไปทำได้อยู่ครับ สำหรับเรื่อง QMK ผมจะเขียนให้อ่านกันถึงการใช้งานตั้งแต่ Basic ถึง Advanced กันในโอกาสหน้านะครับ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมี VIA ซึ่งประยุกข์มาจากการทำงานของ QMK เช่นกันแต่มี interface ที่ใช้งานง่ายเหมือนโปรแกรมในคีบอร์ดแบรนด์ตลาดๆเลย ถือว่าคนที่เข้ามาวงการนี้ช่วงหลังๆ สบายกว่าเมื่อก่อนเยอะเลยครับ

Mekanisk WT-60 PCB by Wilba

Mekanisk WT-60 PCB by Wilba

 

PLATE

เพลทเป็นอีกชิ้นส่วนที่ควรให้ความสำคัญ เพราะส่งผลโดยตรงต่อสัมผัสการพิมพ์และเสียงเช่นกัน ยังรวมไปถึงเลเอาร์ที่รองรับของเพลทด้วย โดยตัวเพลทนั้นมีวัสดุหลากหลาย ซึ่งวัสดุต่างๆเหล่านี้ให้ผลลัพท์ที่แตกต่างกัน

  • อลูมิเนียม เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้บ่อยที่สุด ราคาไม่แพงหาง่าย ให้สัมผัสการพิมพ์แข็งกลางๆ เด้งเล็กน้อย ให้เสียงออกโทนสูง

  • ทองเหลือง เป็นวัสดุอีกอันที่มีให้เลือกใช้เกือบในคีบอร์ดทุกตัว ให้สัมผัสที่แข็งมากกว่าอลูมิเนียม แต่เสียงแน่นและทุ้มกว่า

  • โพลีคาร์บอเนต เป็นวัสดุที่อ่อน ยืดหยุ่น ให้สัมผัสเด้งมือ(flex) เสียงออกไปทางก้องมากกว่า

  • คาร์บอนไฟเบอร์ อีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ให้สัมผัสเด้งเล็กน้อย แต่ให้เสียงที่ใสและชัดเจน และไม่ค่อยมีอาการสั่นของเพลทให้รู้สึก

  • FR4 เป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ทำ PCB ให้ความรู้สึกนุ่มกำลังดีและเสียงแหลมใสดีครับ

  • POM เป็นพลาสติกชิ้นหนึ่งที่มีความอ่อนตัวมากกว่าที่กว่ามาข้างบน ให้ตัวได้เยอะ พิมพ์เแล้วจะรู้สึกว่ายวบลงไปได้ทันที ให้เสียงที่ thock

นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่นๆอีกเช่น PP ไนลอน ซึ่งผมก็ยังไม่เคยลองเหมือนกันถ้าได้ลองจะมาอัพเดทให้ฟังนะครับ

เพลททองเหลืองของ Mekanisk

เพลททองเหลืองของ Mekanisk

 

LAYOUT

ผมได้เคยเขียนของ เลเอาร์ ไว้แล้วในอีกบทความ เลือกเลเอาร์ที่ถูกใจสำหรับการใช้งานกันได้อย่างเลยครับ สำหรับ Layout ที่ได้ความนิยมในปัจจุบันคือ 60% 65% 75% สำหรับผมถือว่าครบถ้วนการใช้งานเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ใครถนัดแบบไหนก็เลือกกันได้ตามสะดวกเลยครับ

keyboard-layout.jpg

SWITCH

สวิตช์ เป็นอีกส่วนที่ผมเคยเขียนบทความแยกประเภทไว้แล้ว รวมไปถึงการโมดิฟายสวิตช์ แต่อยากจะแนะนำซักนิดสำหรับการเลือกสวิตช์สำหรับคีบอร์ดแรกของเรา แต่ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นตัวส่วนตัวของผมที่อยากเอามาแชร์กันนะครับ หากใครเห็นไม่ตรงกันก็มาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

  • Linear เป็นสวิตช์แบบที่กดลงตรงๆ เป็นเส้นตรง สำหรับผมชอบสวิตช์ประเภทนี้มากที่สุด เพราะเป็นสวิตช์ที่แสดงคุณภาพของตัวเคสได้ดีที่สุดในความเห็นผม เป็นสวิตช์ที่ให้เสียงธรรมชาติที่สุด และไม่มีเสียงจากระบบการทำงานของสวิตช์ นอกจากนี้ยังเป็นสวิตช์ที่ตอบสนองได้ไวที่สุด เหมาะสำหรับคนที่จะนำไปใช้เล่นเกมส์ด้วย โดยเฉพาะเกมส์ประเภท FPS ที่ต้องการการตอบสนองที่ไว โดยส่วนมากสวิตช์ linear จะไม่ค่อยใช้สปริงหนักๆกันซักเท่าไร นิยมใช้ที่ประมาณ 55-67g กัน เพื่อความคล่องตัวในการพิมพ์ สำหรับสวิตช์ที่ผมแนะนำ Vintage Cherry Black, Gateron Ink Black, Linjar Switch

  • Tactile เป็นสวิตช์ มีลักษณะแรงต้านหรือที่เรียกว่า Bump มากหรือน้อย และมีความชันที่แตกต่างกันตามเอกลักษณ์ของสวิตช์ตัวนั้นๆ สำหรับในปัจจุบันผมแยก bump ของ Tactile สวิตช์ออกได้ 2 แบบใหญ่ๆคือ

9MkRTj9.jpg

Brown Switch Style

มีลักษณะ Tactile bump เล็กน้อยไม่ต้านมือมาก มีลักษณะแหลม ทำให้กดได้ไม่ยากข้อดีคือ bump ของสวิตช์ทำให้สามารถสัมผัสได้ว่าสวิตช์ถูกกดแล้วโดนตัวสวิตช์จะเริ่มทำเมื่อสัมผัสกดลงไปผ่านตัว tactile bump ทำให้ลดข้อผิดพลาดในการพิมพ์เพราะสัมผัสได้ถึงจุดทำงานของสวิตช์ ตัวอย่างเช่นสวิตช์แนะนำ Cherry MX brown, Cherry MX Clear, Zealios V1, Mod M, Pewter, Durock Light Tactile 

Halo Switch Style

ลักษณะของ Halo stem หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆในสวิตช์ Holy Panda นั้นเป็น Tactile Bump ที่กลมมน และ Tactile มีขนาดใหญ่ให้สัมผัสการพิมพ์ที่แปลกใหม่ เสียง bottom out ที่เพราะและแหลมใส ทั้งนี้ชึ้นอยู่กับสวิตช์ตัวนั้นๆด้วย สำหรับ tactile แบบที่ไม่เหมาะกับการเล่นเกมส์ซักเท่าไรด้วย Tactile ที่มีขนาดใหญ่ทำให้ตอบสนองได้ช้าและสวิตช์กลับตำแหน่งช้ากว่ารวมถึง bottom out ก็ค่อนข้างแรงทำให้นิ้วล้าได้ง่าย แต่เหมาะกับการใช้งานแบบพิมพ์งาน เพราะลดการผิดพลาดได้มากและยังให้ความรู้สีกสนุกในการพิมพ์ด้วย ตัวอย่างเช่นสวิตช์แนะนำ Holy Panda, Paco, T1, Koala, Boba, Moyu Black, Yok Panda และอีกมากมายในตลาดเรียกได้ว่าทำกันออกมาทุกเจ้าเลยครับ

  • Clicky คาดว่าเป็นสวิตช์ที่ทุกคนน่าจะเคยลองกันแล้ว แน่นอนสวิตช์นี้มีเสียงคลิ๊กๆเวลาพิมพ์ ให้ความรู้สึกที่มัน เพราะมีเสียงตอบสนอง สำหรับใครที่ชอบสวิตช์ประเภทนี้อยากจะแนะนำสวิตช์ clicky ของ Kalih มากกว่า เช่นพวกสวิตช์ Box jade ที่ใช้แหล่งกำเนิดเสียงเป็น Click bar ที่ให้เสียงที่ชัดเจนและใสกว่า ซึ่งแตกต่างจากแบบของ cherry ที่เป็นการใช้ตัว Stem ของสวิตช์ดีดกระทบกันให้เกิดเสียง

KEYCAPS 

สำหรับในส่วนนี้ผมเขียนไว้แล้วอีกเช่นกันที่นี่ ในคีบอร์ดสำเร็จรูปมักจะมากับ Keycap OEM Profile และค่อนข้างบางทำให้เสียงของคีบอร์ดเหล่านั้นมักจะเสียงไม่ค่อยแน่นเท่าไร สำหรับ Profile ที่ได้รับความนิยมที่สุดในหมู่คนเล่น Custom คือ Cherry มีหลากหลายราคาหลายแบรนด์ตั้งแต่แพงมากๆ เช่น GMK หรือสำหรับคนที่มีงบจำกัดก็มีแบรนด์จากจีนที่มีราคาที่ถูกกว่าเช่น KBDfans, Taihao, Infinikey, JTK , MAXKEY สิ่งที่สำคัญคือก่อนซื้อควรเช็คก่อนว่าคีย์แคปที่เราจะซื้อต้องมีปุ่มครบกับคีย์บอร์ดที่เราจะใช้ด้วย ทั้งนี้ Keycap แต่ละแบรนด์ก็มีคุณภาพแตกต่างกันไปดังนี้

  • GMK (ABS - Cherry Profile) วัสดุทำจาก ABS เป็นแบรนด์จากเยอรมันนี ที่ได้รับความนิยมและยอมรับในคุณภาพมากที่สุดแคปหนา คงทน ผลิตแบบ Doubleshot

  • Taihao (ABS - Cherry Profile) แบรนด์จากประเทศไต้หวัน มี Profile เป็นของตัวเองชื่อว่า Cubic คล้ายกับ OEM ถือว่างานดีแต่ยังบางกว่า GMK

  • Epbt (PBT - Cherry Profile) แบรนด์จากจีนอีกเจ้าหนึ่งซึ้อได้ที่ KBDfans เป็นปุ่ม PBT ที่คุณภาพถือว่าค่อนข้างดีในตลาดได้รับความนิยม แต่มีปัญหาที่ปุ่มยาวๆเช่น Spacebar หรือ shift จะงอ แต่ก็สามารถแก้ไขได้โดยการเอาไปแช่น้ำร้อนและดัด

  • Epbt (ABS - Cherry Profile) Epbt ช่วงหลักได้หันมากทำ ABS Double Shot ด้วย ถือว่าทำออกมาได้ดีทีเดียวครับแต่ยังมีสีไม่หลากหลายมากเท่าไร ตัวแคปบางกว่า GMK เล็กน้อย เสียอย่างเดียวคือ 7U Spacebar แกไม่ทำแกนด้านในข้างล่างมาให้เวลาพิมพ์นี่เสียงลั่นทุ่งมาก

  • Infinikey (PBT - Cherry Profile) แบรนด์น้องใหม่ที่ฝีมือไม่ใหม่เหมือนชื่อ ผลิตแคป PBT ออกมาได้ดีปุ่มยาวๆไม่งอ ถือว่าเป็นคู่แข่งของ Epbt เลยครับตอนนี้ แถมทำสีออกมาหลากหลาย

  • JTK (ABS - Cherry Profile) อีกเจ้าจากจีนที่ทำ ABS Doubleshot งานถือว่าทำออกมาได้ดี แคปหนาดี สีสวยงาม แต่ผมไม่ชอบส่วนตัวที่ตัวอักษรของแบรนด์นี้ค่อนข้างหนาดูไม่สะอาดตาเท่าไรครับ

  • SP (ABS - SA Profile) เป็นแบรนด์ที่ผลิตแคป SA Profile ออกมาได้สวยงามที่สุดยังหาคู่แข่งยาก แต่ราคาแพง และ ระยะเวลาผลิตอย่างนานเลย (1 ปี)

  • Maxkey (ABS - SA Profile) แบรนด์ SA Profile จากจีนที่ทำงานดีใช้ได้ สีสันยังไม่สดสวยและเงาเท่า SP รวมไปถึงตัวอักษะที่มักผลิตออกมาบางเกินไปไม่คมชัดเท่าไร แต่เอาชนะด้วยราคาที่ไม่แพงมากจับต้องได้ รวมถึงผลิตไวกว่าเยอะ

จริงๆแล้วยังมีคีย์แคปอีกหลายแบรนด์นะครับ โดยเฉพาะทางฝั่งจีนแต่วันนี้เรามาพูดถึงแค่ที่จะได้เห็นกันบ่อยๆเท่านั้น

คีย์แคปของ GMK มักจะมาเป็นชุดมีปุ่มครบถ้วนสำหรับใช้งานได้ทุก Layout

คีย์แคปของ GMK มักจะมาเป็นชุดมีปุ่มครบถ้วนสำหรับใช้งานได้ทุก Layout

จบแล้วนะครับสำหรับคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการเลือก Mechanical Keyboard ตัวแรกกันนะครับ หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะครับหรือใครยังนึกเสียงไม่ออกลองแวะไปฟังเสียงสวิตช์และคีบอร์ดได้ในช่อง Youtube ของ Keeblook กันได้นะ พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ

Next
Next

Keyboard Mounting